วิศวกร และสถาปนิก ส่วนมากจะปวดเศียรเวียนเกล้าต่อปัญหานี้มาก เพราะเนื่องจากไม่สามารถไปทราบได้เลยว่าทิศทางน้ำใต้ดินนั้นจะไปทางใด ถึงแม้ว่าจะมีการเจาะสำรวจชั้นดินแล้วก็ตาม อันที่จริงแล้วการใช้เข็มประเภทนี้มีข้อจำกัด ดังที่ผมได้เคยเสนอไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เข็มประเภทนี้ปลูกสร้างอาคารในช่วง ฤดูฝน และในเขตที่มีฝนตกชุก ซึ่งอดีต ในทางการออกแบบและคำนวณทางทฤษฎี งานก่อสร้างต่างๆ นั้น มักจะไม่คาดเคลื่อนมากนัก แต่ปัจจุบัน ส่วนมากจะคาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง ของความต้องการประสิทธิผลการรับน้ำหนัก ตัวอย่างเช่น การออกแบบเสาเข็มเจาะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.35 เมตร ให้มีความลึก 21.00 เมตร รับน้ำหนักปลอดภัย 38.5 ตัน/ต้น นั้นหมายความว่าเข็มทั้งต้นจะต้องสมบูรณ์ ด้านหน้าตัด และผิวเข็ม
แต่ในทางปฏิบัติงานจริงปรากฏว่า งานขุดเจาะเพื่อจะหล่อคอนกรีตเสาเข็ม มักจะพบว่า เมื่อเจาะ ลงไปเพียง 16 เมตรบ้าง 18 เมตรบ้าง แล้วก็เจอสภาพดินเปียกน้ำ บางที่ก็ปนทราย ช่างเจาะมักจะบอกกล่าวแก่เจ้าของอาคาร ในทำนองว่าขืนเจาะต่อไปก็เจอน้ำแน่ๆ และส่วนมากมักจะ ไม่ยอมเจาะต่อไปโดยข้ออ้าง ที่ก็น่าเห็นใจ เพราะหากขืนเจาะต่อถ้าเจอน้ำพุ่งสวนขึ้นมาก็จบเห่ ทั้งที่สภาพดินที่เสาเข็มจะต้องไปยืนอยู่อ่อนปวกเปียก นึกถึงเวลาท่านนำไม้ไปจิ้มดินน้ำมัน อย่างไงอย่างงั้น
ครั้งหนึ่งประสบการณ์ของผู้เขียนก็เคยเจอสภาพเช่นนี้ แต่ผมประเภทถึงไหนถึงกัน ไม่ถึงชั้นดินที่ต้องการไม่เลิก ให้ช่างเจาะเข็มดันทุรังเจาะลงไป ประเภทว่าเป็นไงเป็นกัน เพราะหากให้ยืนอยู่บนชั้นดินที่ว่า ในอนาคตทรุดแหงๆ แถมทรุดแบบทุเรศอีกต่างหาก แต่ส่วนใหญ่ ผมจะผ่านไอ้ชั้นดินที่ว่าจะเจอน้ำ ไปสู่ชั้นดินแข็งที่ต้องการ ชนิด ที่ลุ้นกันเมตรต่อเมตรเลย ก็ว่าได้ และจะถือว่าโชคช่วยจะได้ไหมนี่ แต่ไม่รู้เป็นไง มักจะมีพรรคพวกในวงการที่ประสพปัญหาเช่นเดียวกับผม มักไม่ผ่าน
พอดันทุรังไปเจอะเอาน้ำพุ่งสวนขึ้นมา ขณะเทคอนกรีตจนปอดอ้าไปตามๆกัน เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ไปเจองานพรรคพวกงานหนึ่ง ให้ช่วยไปดูให้หน่อย ผมไปดูแล้วเห็นสภาพดังที่ผมกล่าวข้างต้นจึงแนะนำให้เปลี่ยนประเภทเสาเข็ม แต่ทำไงได้เข็มที่ผมแนะนำให้เขาเปลี่ยน มันแพง เขาจึงใช้วิธีเจาะเพิ่มเป็นฐานละ 2 ต้น เอากับเขาซิผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ต้องให้เกียรติกัน เจ้าของอาคารก็ต้องเสียเงินอีกเท่าตัวไม่รู้จะว่าอย่างไร ได้แต่บ่นว่ามันเป็นเรื่องของอนาคต รอลุ้นกันเอา เองก็แล้วกัน ไม่ทรุดก็ถือว่าโชคดีไป หากทรุดก็ค่อยว่าเอาไงก็เอากัน นี่ละครับปัญหาที่ผมอยากจะเรียนท่านผู้อ่าน ว่าเรื่องของอนาคตไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น กับตัวอาคาร ส่วนในปัจจุบัน เจ้าของอาคารเพียง ให้ได้สร้างอาคารตามงบประมาณที่วางไว้ ไม่บานปลาย ส่วนผู้รับเหมาก็ขอให้ได้สร้างให้เสร็จตามกำหนด หากเกิดปัญหาค่อยว่ากันที่หลัง และส่วนใหญ่ก็เจอจริงๆ บางอาคารสร้างยังไม่ทันเสร็จก็ทรุดเอียงเสียแล้ว บางอาคารสร้างเสร็จตบแต่งไว้อย่างสวยหรู ไม่ทันข้ามปีรอยร้าวก็เกิดขึ้นตามผนังและคาน เสียเงินแก้ไขมากกว่าตอนสร้างเสียอีก บางอาคารปล่อยให้ทรุดตัวจนต้องทุบทิ้งเพราะไม่มีงบประมาณแก้ไข
ตามประสพการณ์ของผมหากเจอสภาพที่กล่าวมาข้างต้น ต่อให้ ใช้เข็มมากกว่า 2 ต้น มันก็ทรุด ถ้าผมเป็นเจ้าของอาคาร และไม่หนักหนาสากันในเรื่องงบประมาณมากนัก จะเปลี่ยนระบบเสาเข็มของฐานรากอาคารไปใช้เข็มชนิดหรือระบบอื่นเสียจะดีกว่า บอกกล่าวเตือนกันไว้แค่นี้หวังว่าท่านคงวางแผนการก่อสร้างอาคาร ไว้อย่างรอบครอบ นะครับ